Powered By Blogger

คำสอนของพระชื่อดัง

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

ปัญหาบางเรื่องเล็กน้อยก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ของใครบางคน ซึ่งทุกปัญหามีทางเเก้ไข ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่าปัญหามีทางเเก้ ส่วนมากจะเกิดจากเหตุเมื่อเรารู้เหตุก็จะรู้วิธีทางเเก้ เเต่บางคนบอกว่าปัญหามีทางเเก้แล้วถ้าเเก้ไม่ได้ละ ผมว่าน่าจะเป็นสัจธรรมที่มนุษย์ของเราทำกรรมอะไรไว้ก็จะได้อย่างนั้นจริงไหมครับ




วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กฏแห่งกรรม

กฏแห่งกรรม
            ในปัจจุบัน ความเชื่อของคนไทยในเรื่องกฏแห่งกรรม หรือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กำลังสั่นคลอน เราจะเห็นว่าคนหลายคนที่ประกอบกรรมชั่ว เป็นผู้ทุจริตประพฤติผิดศีลธรรม กลับมีอำนาจวาสนาและทรัพย์สมบัติ มีคนเคารพยกย่องนับถือ ในขณะเดียวกัน คนซึ่งอยู่ในศีลธรรมกลับเป็นคนยากจนได้รับความยากลำบาก ถูกหัวเราะเยาะและถูกกลั่นแกล้ง ทำให้คนเริ่มสงสัยในเรื่องกฏแห่งกรรม และบางคนก็ไม่ยอมเชื่อเรื่องนี้

คำสอนของ หลวงปู่พวง สุขินทริโย วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม จ. ยโสธร



            อันนี้จะยกตัวอย่าง เช่นว่า เราที่เป็นชาวพุทธนิยมบวชลูก บวชหลาน เมื่อลูกหลานบวชเป็นพระก็ตาม บวชเป็นเณรก็ตาม ถ้าบวชเข้ามาอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล แม้แต่บิดามารดาก็ต้องมากราบ กราบลูกของตนที่บวชนั่น ที่อยู่ในผ้าเหลืองนั่น นี่แสดงให้เห็นว่าผู้มีศีลนั้น มีคุณงามความดี หรือว่าศีลนี้มีอำนาจวาสนา แม้แต่นายร้อย นายพล นายพัน พระราชา มหากษัตริย์ ก็มากราบผู้มีศีล จะอยู่ในวรรณะไหนก็ตาม ถ้ามาบวชแล้วถือว่าเป็นวรรณะที่สูง เป็นคนที่มีลาภ มียศ สูงกว่าพระมหากษัตริย์ อันนี้แหละคือศีล
             หลวงปู่พวง สุขินทริโย วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม จ. ยโสธร

คำสอนของ หลวงปู่คำพอง ติสฺโส วัดถ้ำกกดู่ จ.อุดรธานี


            อะไรที่เป็นเครื่องมือให้มนุษย์เราทำลายชาติมนุษย์ของเราให้หมดลง ที่ทำให้เรานั้นเสียเกียรติเสียยศเสียชื่อเสียง เสียหน้าตา สมบัติที่เคยคุ้มครองก็ดี เนื้อหนังที่มนุษย์ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่เคยเกิด เคยเป็น และพาไปให้เราตกนรกหมกไหม้เป็นดิรัจฉาน เป็นเปรต อสุรกาย มีใครล่ะไปแต่งให้มนุษย์เป็นเปรตเป็นอสุรกาย แต่งให้มนุษย์เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ใครเป็นคนแต่ง ก็กรรมจากมนุษย์นั่นแหละ
            หลวงปู่คำพอง ติสฺโส วัดถ้ำกกดู่ จ.อุดรธานี

คำสอนของ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย จ.บุรีรัมย์


            เมื่อเราคิดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ เมื่อเรา กระทำความดีอยู่อย่างนี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ก็ล้วนแต่อยู่ด้วยดี ชีวิตที่ผ่านมาหมดไปแล้ว ก็หมดไปด้วยดี ชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไม่ลดละ ความดีของเรายิ่งงอกงาม เจริญเพิ่มเติมขึ้นอีกตามลำดับ เราสามารถจะมีกำลังเอาชนะสิ่งที่ไม่ดี อันเป็นสาเหตุให้ขัดขวางความดีได้
            หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย จ.บุรีรัมย์

คำสอนของ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้ว จ.สกลนคร


            เวลาเราโกรธด่าว่าทุบตีเขา เราก็เป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่จิตมุ่งอยากจะให้คนนั้นคนนี้เขาดี จึงดุด่าว่า.กล่าว โกรธเขาถ้าเขาไม่ทำตาม แต่เราสอนเขาด้วยความโกรธในจิตในใจนั้นไม่เป็นผลประโยชน์ เหมือนกับเอาน้ำร้อนๆ ไปรดผัก แทนที่มันจะงอกงามขึ้น ไม่เป็นอย่างนั้น มันไหม้มันตายไปหมด เพราะน้ำที่เราไปรดมันร้อน ฉันใด จิตใจของคนที่โกรธไปแนะสอนคนอื่น บอกคนอื่นด้วยความโกรธ จึงเป็นโทษเป็นทุกข์ เขาไม่ยินดีรับคำสอน
            พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้ว จ.สกลนคร

คำสอนของ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต จ.หนองคาย


            ผู้มีกุศลในใจ คือ มีบุญในใจ หนักแน่น ใครด่าว่าติเตียน ก็ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียด เพราะว่าใจมีบุญเป็นเครื่องอยู่ ตรงกันข้ามกับใจที่มีกิเลสเป็นเครื่องอยู่ กิเลสอยู่ในใจใคร ก็มีแต่ ปั่นจิตใจให้เดือดร้อนวุ่นวาย
            หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต จ.หนองคาย

คำสอนของ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้ว จ.สกลนคร


             ปัจจุบันทุกวันนี้ ก็เหมือนกัน รูปที่เป็นอยู่ เป็นของสกปรกทั้งนั้น ไม่ว่ารูปหญิง รูปชาย รูปพระ รูปฆราวาส เป็นเหมือนกันหมด เหตุใดมันจึงเป็นอย่างนั้น ของที่เราขบฉันรับประทานลงไปเป็นของเน่า ของเหม็น ของเสียทั้งนั้น ไม่ใช่ของดิบของดีอะไร เป็นต้มเป็นแกง เป็นผัดเป็นทอดต่างๆ ถ้าเราทิ้งเอาไว้ ของเหล่านั้นจะเน่า จะเหม็น จะเสีย อยู่ไปคืนสองคืนมีกลิ่นแล้ว นี่ร่างกายของเราที่เอาของเน่าของเหม็นมาบำรุงบำเรอ มันก็เป็นก้อนของเน่า ของเหม็นปฏิกูล ไม่ใช่ของสวยงามอะไร
เพราะเหตุนั้น ในร่างกายของเราทั่วไป ไหลออกทางทวารใดก็มีแต่ของสกปรกเน่าเหม็น ไม่เป็นของดิบของดี ของหอมหวาน มีแต่ของเน่า เพียงแต่ลมออกมาเท่านั้น มันก็ยังมีกลิ่น แสดงว่ามันเน่าทั้งตัว มันเหม็นทั้งตัว ไม่มีอะไรที่จะดีวิเศษ 
            

            พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้ว จ.สกลนคร

คำสอนของ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่


            เกิดมาภพใดชาติใดก็ทุกข์แย่เต็มประดา ทุกข์ตั้งแต่วันเกิดถึงวันแก่ ทุกข์จากวันแก่ถึงวันแตกดับวันตาย ทุกถ้วนหน้าไม่มีใครข้ามมันไปได้
จึงให้เรามาสนใจในการรวมจิตใจของเรา ให้สงบระงับ ตั้งมั่น เที่ยงตรง อยู่ภายในดวงใจให้ได้ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก
จนกระทั่งจิตใจสงบตั้งมั่น เป็นสมาธิภาวนาให้ได้

      
             หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่

คำสอนของ หลวงพ่อเทียน จิตสุโภ วัดสนามใน จ.นนทบุรี


            ธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวคนแต่ละคน อาจเปรียบได้กับผลไม้แต่ละผล หรือเมล็ดข้าวเปลือก ถ้าหากได้เอาลงเพาะในดินที่ชุ่มเย็น มีเงื่อนไขต่างๆพอเหมาะ ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้น ให้ดอกออกผลได้เช่นกัน ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของข้าวเมล็ดนั้นๆเป็นเหตุปัจจัย
            หลวงพ่อเทียน จิตสุโภ วัดสนามใน จ.นนทบุรี

คำสอนของ หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย



            ผู้เจริญภาวนาใช้อารมณ์ธรรมต่างๆ กัน แต่ละกิเลสอย่างเดียวกัน ดุจเสนาม้า เสนารถ เสนาเดินด้วยเท้า เพื่อทำสงคราม แต่เอาชัยชนะอย่างเดียวกัน
            หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย

คำสอนของ หลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี


             เวลาคิดสร้างปัญหาทำไมขยันคิด แต่เวลาแก้ปัญหาทำไมไม่ขยันแก้ เวลาคิดสร้างปัญหาทำไมไม่ปวดหัว แต่เวลาคิดแก้ปัญหาทำไมปวดหัว              หลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี

คำสอนของ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงค์ธรรม จ.สกลนคร


             ในรูปร่างกายของพวกเรามันมีอยู่อย่างนี้ นี่เราเรียกว่าเป็นภูต ร่างกายของเราท่านว่าเป็นมหาภูตรูป ว่ากันง่ายๆก็คือ มหาภูต ภูตก็คือผี ร่างกายของเรานี้แหละ มันเป็นผีอยู่ มันจะต้องรบเร้า ทำความเดือดร้อนให้แก่ตัวเราอยู่ตลอดกาล ต้องได้เลี้ยงได้เซ่นได้สรวงมันอยู่ตลอดกาลเวลา เราเซ่นสรวงผีอันนี้ เราก็ว่าบริโภคอาหาร อาบน้ำนุ่งผ้า ประดับประดาตกแต่งร่างกาย เราก็ว่าไปอย่างนั้น ความจริงการเซ่นสรวงผีอันนี้ เราหาของมาเซ่นมัน มา บวงสรวงบูชามัน แต่ขนาดนั้นมันก็ไม่กรุณาเราเลย มันมีแต่จะทำให้เราเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา
             พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงค์ธรรม จ.สกลนคร                                                         

คำสอนของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร


            เมื่อใจของเราสงบแล้ว ความสุขความสบายก็เกิดที่นั่น ไม่ได้เกิดที่อื่น ไม่ได้สุขสบายเพราะวัตถุข้าวของทั้งหลายต่างๆ ใจเราสบายเท่านั้นแหละ ความสุข เมื่อใจเราสบายแล้ว ทำอะไรก็สบาย ทำมาหากิน ค้าขาย การอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็สุขก็สบาย ธรรมนั้นก็นำความสุขความสบายให้
            หลวงปู่ฝั้น อาจาโร  วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร

คำสอนของ หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ


            พรุ่งนี้มีไหม พรุ่งนี้ไม่มี มีแต่วันนี้ มีใครเห็นพรุ่งนี้ไหม เห็นเดี๋ยวนี้ ปัจจุบัน..ปัจจุบันดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันดี อดีตก็ดี ชีวิตก็มีเท่านี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ เราจะทำอย่างไร เราอยู่ที่ไหนกัน อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงความรู้สึกตัว สมมติเรายืนอยู่ที่นี่แต่ใจเราไปอยู่กับลูกชายลูกสาว ไปถึงกรุงเทพฯ ไปถึงลูกสาว ลูกชาย มีประโยชน์อะไร เขารู้ว่าเราคิดถึงเขาไหม เขาไม่รู้หรอก เขาสนุกสนาน เราก็เป็นบ้าไปคิดถึงเขา ห่วงเขา เขาไม่รู้ว่าเราคิดถึง              หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ

คำสอนของ หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

        
              ในทางพุทธศาสนาท่านว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่น แต่เราฟังไม่จบไม่ตลอด ที่ว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นนั้น คือว่าท่านให้ยึดอยู่แต่อย่าให้มั่น เช่นอย่างนี้ อย่างไฟฉายนี่แน่ะ นี่คืออะไร ไปยึดมันมาแล้วก็ดู พอรู้ว่าเป็นไฟฉายแล้วก็วางมัน อย่าไปมั่นยึดแบบนี้              หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

คำสอนของ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย จ.บุรีรัมย์


            การประดับตกแต่งไม่มีสิ่งใดที่จะงามเท่าการประพฤติธรรม เรียกว่า ธรรมลังการ เครื่องประดับ คือ ธรรม ประดับกายให้เรียบร้อย ประดับวาจาให้เรียบร้อย ประดับจิตให้มั่นคง หนักแน่น สงบเสงี่ยม เรียบร้อย ผ่องใส สะอาด             หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย จ.บุรีรัมย์

คำสอนของ หลวงปู่คำพอง ติสฺโส วัดถ้ำกกดู่ จ.อุดรธานี

            
             พระบรมศาสดาสอนให้พิจารณาความตายเพราะมันละกิเลสได้ มันหมดความทะเยอทะยาน หมดความเห็นแก่ตัว ความตายนั้นเป็นอารมณ์อันเป็นสิริมงคลชนิดหนึ่ง คนระลึกถึงความตายก็หมดปัญหาที่จะไปคิดฆ่าใคร คิดเข็ญคนอื่น คิดเบียด เบียนคนอื่น คิดอิจฉาพยาบาทคนอื่น มันก็หมด หมดความที่เป็นบาป เรียกว่ากุศลกรรม 
                                                                 

            หลวงปู่คำพอง ติสฺโส วัดถ้ำกกดู่ จ.อุดรธานี

คำสอนของหลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี

            
              สมัยก่อนๆ คนไม่มีความรู้มากขนาดนี้ ก็เป็นพระอริยเจ้ากันได้มากมาย พระพุทธเจ้าสอนประโยคสองประโยค ท่านเอาไปปฏิบัติสมัยนี้รู้มาก ลังเลมาก เรียกว่ารู้มากยากนาน เหมือนอาหารมากเครื่องปรุงมากกลับไม่อร่อย เพราะเครื่องปรุงไม่สมบูรณ์แบบ
              หลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี

การทำจิตให้สงบ คำสอนของพระโพธิญาณ (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)

                        การทำจิตให้สงบ คำสอนของพระโพธิญาณ (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
การทำจิตให้สงบ คือ การวางให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากมันก็เลยไป ปล่อยเกินไปมันก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดีธรรมดาจิตเป็นของไม่อยู่นิ่ง เป็นของมีกิริยาไหวตัวอยู่เรื่อย ฉะนั้น จิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง
การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็ คือ การออกกำลังกาย ทำกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่งนี่คือ การทำกายให้มีกำลังการทำจิตให้มีกำลังก็คือ ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังด้านสมาธิภายในสิ่งที่รักษาสมาธินี้ไว้ได้คือสติสตินี้เป็นธรรม
เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งซึ่งให้ธรรมอันอื่นๆ ทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเรียง"ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี"
"เมื่อมันกล้าขึ้นมา มันก็คือมรรค""นี่แหล่ะคือหนทาง ทางอื่นไม่มี"

จากคำสอนของพระโพธิญาณ (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)

ธรรม คืออะไร คำสอนของพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

คำว่า "ธรรม"...

... คือ ความร่มเย็น อันสุดแสนจะกล่าว และ เป็นหลักยึดที่เยือกเย็น เป็นสุขแก่ผู้พึ่งพิง มีเหตุกับผล คือ ควร หรือ ไม่ควร เป็นเครื่องทดสอบ ทั้งเหตุและผล รวมตัวเข้า เรียกว่า "ธรรมะ"... การพิสูจน์หาความจริง แห่งความเสื่อม และ ความจริงของการกระทำ ด้วยการพิจารณาก่อน ทุกกรณีย์ นั่นคือ ผู้มีธรรม และ ยึดธรรมเป็นหลักใจ และ นั่นคือ ผู้มีวิชาธรรมะ เป็นเครื่องมือป้องกันตัว... คนเช่นนี้ จะเป็นเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ก็ตาม จะเป็นผู้สามารถรักษาตน และ ทรงตัวได้ในท่ามกลางแห่งความปั่นป่วน ผันผวนนานาชนิด อย่างน่าชม

พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คำสอนของหลวงปู่ เหรียญ วรลาโภ

           ...ท่านองค์ใดเข้านิโรธแล้ว ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ ๆ นี้ ใครได้ทำบุญถวายท่านแล้ว มีหวังผลบุญนั้นเอง ในวันนั้น ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้าเลย... ถ้าได้ให้ทานแก่พระสงฆ์ธรรมดา ซึ่งถ้าไม่ได้ออกจากนิโรธสมาบัติใดใดเลย แม้จะเป็นพระอรหันต์ก็ตาม ก็ยังให้ผลในปัจจุบันนี้ไม่ได้ก่อน... เมื่อผู้ใดให้ทานแก่ท่านผู้วิเศษดังกล่าวมานั้น มันก็มีผลมาก่อน... พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ตรัสว่า "บรรดานกทั้งหลาย ย่อมมีหญ้าเป็นโทษ หมู่สัตว์นี้มี ราคะ โทสะ โมหะ เป็นโทษ เพราะฉะนั้น ทานที่ให้แก่ท่านผู้สิ้นราคะ โทสะ โมหะ แล้ว จึงชื่อว่า มีผลมาก ดังนี้"... บุคคลในโลกนี้ จะเป็นเพศไหนก็ตาม จะให้ดีเสมอกันหมดนะไม่ได้ จะให้ชั่วเหมือนกันหมด มันก็ไม่ได้เหมือนกัน แม้แต่ครั้งพระพุทธเจ้าโน้น ก็ยังมีทั้งคนดีและคนชั่ว ทั้งพระดี พระชั่ว มาก่อน มาอยู่อย่างนั้นแหละ อันนี้ มันเป็นกฏธรรมดาของโลก มันหลีกเลี่ยงไม่พ้น...
หลวงปู่ เหรียญ วรลาโภ

มงคลชีวิต

                                   มงคลชีวิต
อย่านอนตื่นสาย
อย่าอายทำกิน
อย่าหมิ่นเงินน้อย
อย่าคอยวาสนา
อย่าเสวนาคนชั่ว
อย่ามั่วอบายมุข
อย่าสุกก่อนห่าม
อย่าพล่ามก่อนทำ
อย่ารำก่อนเพลง
อย่าข่มเหงผู้น้อย
อย่าคอยแต่ประจบ
อย่าคบแต่เศรษฐี
อย่าดีแต่ตัว
อย่าชั่วแต่คนอื่น
อย่าฝ่าฝืนกฎระเบียบ
อย่าเอาเปรียบสังคม
อย่าชมคนผิด
อย่าคิดเอาแต่ได้
อย่าใส่ร้ายคนดี
อย่ากล่าววจีมุสา
อย่านินทาพระเจ้า
อย่าขลาดเขลาเมื่อมีทุกข์
อย่าสุขจนลืมตัว
อย่าเกรงกลัวงานหนัก
อย่าพิทักษ์พาลชน
อย่าลืมตนเมื่อมั่งมี



ความกตัญญู

            พระพุทธศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี คนดีย่อมเป็นที่ปรารถนาที่ต้องการในที่ทุกหนทุกแห่งในทุกกิจการ และในทุกยุคทุกสมัย คนดีทำให้ครอบครัวเจริญ โรงเรียนเจริญ ชุมชนเจริญ สังคมและประเทศชาติเจริญ คนดีอยู่ในครอบครัวใด โรงเรียนใดและสังคมใด ครอบครัว โรงเรียน และสังคมนั้นๆ ย่อมมีความสุข ความกตัญญู คือ คุณสมบัติและสัญลักษณ์ของคนดี กตัญญูกับกตเวทีรวมเป็นกตัญญูกตเวที เป็นคุณธรรมคู่กันเสมอ เป็นหลักถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของสัตบุรุษ คือ คนดี หรือคนในอุดมคตินั่นเอง ในสังคมชาวพุทธ คนมีกตัญญูกตเวทีย่อมเป็นผู้ควรค่าแก่ความรัก เกียรติ ศักดิ์ศรี และการยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่น เพราะได้ปฏิบัติธรรมอันถือเป็นมงคลยิ่งข้อหนึ่ง คือ ความกตัญญู บุคคลย่อมมีชีวิตประสบแต่ความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองความคิดและความเชื่อตามวัฒนธรรมไทยนั้น สรรเสริญผู้มีความกตัญญูและตำหนิผู้ที่ไม่รู้จักบุญคุณคนอื่นเป็นอย่างมาก คนไทยมีความเชื่อว่าผู้ที่มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ จะมีความเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนผู้ที่เนรคุณนั้นจะประสบความวิบัติเป็นที่รังเกียจในสังคม ได้มีการเปรียบเทียบว่า คนที่เนรคุณนั้น เป็นคนไร้ค่ามีจิตใจกระด้างดังเนื้อหิน เขาจะกรุณาคนอื่นได้อย่างไรในเมื่อคนที่มีบุญคุณต่อเขา ยังทำให้เขา
สำนึกไม่ได้
กตัญญู เป็นธรรมอันเป็นมงคลที่ 25 ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้โดยเน้นให้นำไปพัฒนาคุณสมบัติของคนดีแปลตามตัวหนังสือคือผู้รู้ว่า คนอื่นทำความความดีอะไรไว้แก่ตนบ้าง เอาความหมายสั้นๆ ว่าา "ผู้รู้คุณคน" การรู้บุญคุณคนหรือรู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำให้ตนเองนับถือเป็นหลักแห่งความยุติธรรมและความเป็นธรรมอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ เพราะเป็นการสอดคล้องกับหลักคำสอนว่า การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ มีคนทำดีให้กับเราแล้ว และเราได้รับผลประโยชน์จากการทำดีของเขา เป็นต้นว่า ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข แต่เรารับรู้แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่รับรู้คุณความดีของเขา ย่อมถือได้ว่าไม่ยุติธรรมต่อกัน

ทิศ 6

ทิศหก บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัวจัดเป็น ๖ ทิศ ดังนี้
๑.
ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา
๒.
ทักขิณทิสทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์
๓.
ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามีภรรยา
๔.
อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้ายได้แก่ มิตรสหาย
๕.
อุปริมทิส ทิศเบื้องบนได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์
๖.
เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง

จีราพล บุตรนอก